ปลูกต้นไม้ก่อนสร้างบ้าน ให้เติบโตเป็นร่มเงา ปลูกบ้านเหมือนปลูกต้นไม้ ให้ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับเรา

Rice Barn

บ้านนานวนจันทร์

บ้านหลังนี้เริ่มสร้างเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ค่อยๆ ต่อเติมให้เติบโตตามแรงกำลังทรัพย์ที่มี ผ่าน ความร้อน ฤดูฝน และพายุมา 3 รอบ ทำให้เสาบ้าน 1 ต้น ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเอียงเข้าเล็กน้อย เนื่องจากมีลมประทะทางนั้นแต่ทุกอย่างก็ยังคงแข็งแรงดี ไม่มีผลต่อความปลอดภัย ในปีนี้พร้อมแล้วที่จะสร้างให้เสร็จ (หวังว่าจะทำให้เสร็จ) ต้นไม้ที่ปลูกไว้ ก็พร้อมแล้วที่จะเป็นร่มเงาให้กับบ้าน
ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ระหว่างทางการเติบโตย่อมมีตำหนิ และเรื่องราวของมัน
Get in touch

Since 2021

จุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านหลังนี้ เป็นแนวคิดเดียวกันกับการเริ่มทำนานวนจันทร์ “ต้นไม้ต้องเริ่มปลูกวันนี้ มันถึงจะเติบโต” เช่นกันกับการปลูกบ้าน เราปลูกตามเงื่อนไขชีวิต และตามกำลังทรัพย์ที่มี เหมือนกับคนในสมัยก่อนที่สร้างบ้านตามวัสดุที่มี ทำเล็กๆ พอให้ได้อยู่อาศัยมีที่พักพิง และค่อยๆ ต่อเติมขยายเมื่อหาได้มากขึ้น หรือมีกำลังทรัพย์มากขึ้น ไม่ได้ทำบ้านให้เสร็จทีเดียว

จุดเริ่มต้นเล็กๆ 

เริ่มจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่สามารถหาได้ตามข้างทาง หรือสถานที่ต่างๆ ใกล้บ้าน ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สามารถทำได้เลย บางต้นก็ได้มาจากการเพาะเมล็ด บางต้นก็ซื้อมาในราคาไม่แพง

“ปลูกบ้าน เหมือนปลูกต้นไม้ ค่อยๆ เจริญเติบโต”

ปลูกต้นไม้ไว้เป็นหลังคาบ้าน

ผมใช้เงินเก็บอันน้อยนิดในช่วงเริ่มต้นการทำงาน ในการลงทุนซื้อต้นไม้ต้นละ 35 บาท ส่วนใหญ่ต้นไม้ที่เลือกมาปลูกจะเป็นต้นไม้พื้นถิ่นเช่น ต้นประดู่ มะค่า ไม้แดง ต้นยางนา กันเกรา พะยอม พะยุง มะขามป้อม ลูกหว้า ต้นดอกจาน กระพี้เขาควาย ต้นสักทอง ฯลฯ เพราะต้นไม้เหล่านี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง เราเลือกมาปลูกเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และเป็นที่พักพิงอาศัยของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ทั้งจุลินทรีย์ในดิน เห็ดราพื้นถิ่น หรือนก แมลง จะมีความเคยชินกับต้นไม้เหล่านี้ ผมปลูกต้นไม้ไว้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และปลูกมาเรื่อยๆ จากพื้นที่แห้งแล้งก็เริ่มเขียวชะอุ่มขึ้น และขนาดของต้นไม้ก็สูงขึ้นหลายสิบเท่า โตพอที่จะทำหน้าที่เป็นหลังคาให้กับบ้านที่เรากำลังสร้าง

สร้างบ้านพอดีตัว เหมือนนกทำรัง

อยากมีบ้านอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ก็สร้างสภาพแวดล้อมแบบนั้นขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆ สร้างบ้านเมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย   หลังจากที่ผมสำรวจเงื่อนไขในชีวิต และต้นทุนที่มีอยู่ Base on ความเป็นจริง ทำให้รู้ว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับการอยู่บ้านหลังเล็กๆ เราสามารถสร้างได้เลยเพราะมีที่นาของตากับยาย และมีไม้ที่เก็บไว้จากบ้านโบราณหลังเก่าที่เคยอยู่อาศัย ผมจึงออกแบบโดยใช้ไม้ที่มีอยู่ ทำโครงหลังคาสูงโปร่งเหมือนเล้าข้าว ใช้วัสดุที่สามารถหาได้ในในท้องถิ่น และใช้ช่างในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด เงินก้อนแรกที่ใช้ไปกับการทำโครงสร้างเสาหลังคาซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ราคา 45,000 บาท รวมค่าช่างแล้ว
Vernacular Architecture

ปลูกบ้าน ณ ถิ่นที่สร้าง

ช่างที่สร้างบ้านให้เรา คือ น้าหอน เป็นช่างไม้ประจำหมู่บ้าน สร้างบ้านให้คนในหมู่บ้านมาแล้วหลายหลัง แม้กระทั่งเล้าข้าว(ยุ้งฉาง)ก็เคยสร้าง ถนัดการทำงานไม้ซึ่งเหมาะกับบ้านของเราพอดี ผมทำงานกับช่าง เราเลือกชิ้นส่วนไม้ทีละท่อนเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการใช้งาน ไม้บางท่อนมีความแข็งแรงสูงเป็นแก่นไม้ เหมาะที่จะทำคานรับน้ำหนักของดั้งและค้ำยัน บางท่อนเหมาะกับการทำอะเส หรือจัณฑัน ซึ่งเราต้องเลือกให้เหมาะสม และช่างไม้จะมีเทคนิคบางอย่าง หรือมีรายละเอียดเฉพาะทางของการทำงานไม้ ซึ่งต่างจากการใช้โครงสร้างเหล็ก หรือวัสดุจากโรงงาน ผมคิดว่านี่แหละคือเสน่ห์ของการทำงานไม้

บ้านที่เติบโตไปพร้อมกับเรา

ผ่านเวลามา 3 ปี หลังจากที่เราขึ้นโครงสร้างหลังคาของบ้านหลังนี้ไว้ ผ่านแดด ลม ฝน มา 3 รอบฤดูกาล ในระหว่างนั้นต้นไม้ที่ผมปลูกไว้ก็เจริญเติบโต และผมเองก็เติบโตขึ้น
ในปีนี้ (2024) บ้านหลังนี้กำลังถูกต่อเติมให้มีผนัง ประตู หน้าต่าง เพื่อปกป้องคนที่จะเข้าอยู่อาศัย ต้นไม้เจริญเติบโตเพียงพอที่จะให้ร่มเงาและสร้างความร่มเย็น เป็นที่พักพิงที่ปลอดภัย และอยู่ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ผมอยากอยู่ ที่นี่กำลังจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า บ้าน แห่งนานวนจันทร์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *