เกียยย…..เกีย เกียยย….เกีย!

เสียงตะโกนอันเป็นเอกลักษณ์ เชื่อว่าเด็กอีสานยุค 90’s ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบทมักจะได้ยินกันบ่อยๆ

รถขายเกลือ กับเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ “เกียยยเกียยยย”
ช่วงฤดูฝนในภาคอีสาน เป็นช่วงที่ธรรมชาติกำลังฟื้นคืนกลับมา หลังจากผ่านฤดูแล้งอันยาวนาน ที่ฝนไม่ตกเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ซึ่งในช่วงนี้เราจะสังเกตเห็นบรรยากาศที่เปลี่ยนไปของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสีสันของธรรมชาติ อุณหภูมิของอากาศ วิถีชีวิต กิจกรรมในชุมชน และอาหารการกิน เป็นช่วงที่เราสามารถเจอรถขายเกลือได้บ่อยที่สุด
 
รถขายเกลือ มีลักษณะที่สังเกตได้คือจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ต่อพ่วง พร้อมกับกระสอบเกลือบรรทุกไว้ด้านหลัง ขับไปตามหมู่บ้านในซอกในซอยพร้อมกับตะโกนว่า “เกียยยยยย เกียยยยยย”(ลากเสียงยาววว) ได้ยินไป 8 บ้าน ถ้าใครต้องการจะซื้อก็ต้องรีบวิ่งออกมาจากในครัวแล้วตะโกนกลับไปว่า “ถ่าแน ถ่าแนนนนน เกียยยยๆๆ” ถ้ารถขายเกลือไม่จอดก็จะวิ่งตาม พร้อมกับด่าจัดมาเป็นชุด
ฤดูฝนในอีสาน เป็นช่วงที่ธรรมชาติฟื้นฟูจากความแห้ง และสีเขียวเริ่มกลับคืนมา พร้อมกับปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำเริ่มมาออกันเพื่อเตรียมตัวออกไปวางไข่ในทุ่งนา ช่วงนี้เป็นช่วงที่หาปลาได้เยอะมาก และปลาก็ราคาถูกด้วย เหลือกินเหลือใช้ จะเอามาตากแดดทำปลาแดดเดียวก็ไม่ได้เพราะฝนตกไม่ค่อยมีแดด เราก็มักจะเอาปลามาแร่แล้วนำไปหมักเป็นปลาร้า(ปลาแดก) หมักเก็บไว้ 1-2 ปีแล้วค่อยเอามากิน ซึ่งเกลือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญมากในการหมักปลาร้า
 
ปลาน้ำจืด ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการหมักปลาร้า นอกจากจะใช้ปลาแล้วที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ “เกลือ” เราใช้เกลืออีสาน ไม่ใช้เกลือทะเล เป็นเกลือที่อยู่ใต้พื้นดินอีสาน(เกลือบ่อต้ม) หรือบางทีเรียกว่าเหลือสินเธาว์ เม็ดใหญ่ๆ คนขายเกลือจะนำเกลือใส่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงท้ายตระเวนขายในชุมชน เพราะรู้ว่าเป็นช่วงที่ทุกคนต้องการใช้เกลือหมักปลาร้า เกลืออีสานก็จะขายดีมากในช่วงนี้ เป็นวิถีชีวิต บางทีฝนตก คนขายเกลือต้องรีบขับไปหาที่หลบฝนเพราะกลัวว่าเกลือจะละลาย ถ้าเราเห็นก็มักจะแซวว่า ‘ถ่าแนๆๆๆ’ (รอหน่อยๆ เกียๆๆๆ )
 
ในปีนี้ นานวนจันทร์ เราได้ปลามาเยอะมาก ปลาที่เรานำมาหมักปลาร้า คือปลาขาวส่อย หรือปลาสร้อยขาว เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กวงศ์ปลาตะเพียน ซึ่ง้ราได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือเขื่อนลำปาว ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรา คนในหมู่บ้านมักจะไปหาปลาจากเขื่อนลำปาวเพื่อนำมาขาย หรือใช่ประกอบอาหารกินในครอบครัว และเกลือที่เราใช้หมักปลาร้ามาจาก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคามซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดกาฬสินธุ์ของเรา ทุกๆ องค์ประกอบเอื้อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปลาแดก” หรือปลาร้า ซึ่งเราจะมาแชร์สูตรปลาร้านานวนจันทร์ให้ทุกคนได้สามารถนำไปทดลองทำเองได้ที่บ้านใน Content ถัดไป 
 
สามารถติดตามเรื่องราวของนานวนจันทร์ และสิ่งแวดล้อมรอบๆ บ้านเราในอีสาน โดยเฉพาะในจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ที่ Facebook : Na nuan chun – นานวนจันทร์
 
เรื่องราว : นานวนจันทร์
ภาพถ่าย : nanuanchun
 
 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *